ไวรัสโคโรนา 19 หรือ Covid-19 เป็นเชื้อไวรัสที่เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ปอดจึงได้รับความเสียหายโดยตรง โดยติดเชื้อผ่านละอองฝอยน้ำมูก น้ำลาย จากการไอ จาม หรือใกล้ชิดสัมผัสกับผู้ป่วย เนื่องจาก Covid-19 เป็นไวรัสที่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้จึงทำให้เกิดการระบาดครั้งใหญ่ไปทั่วโลกและมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงควรหมั่นสำรวจตัวเองอยู่เป็นประจำ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาและล้างมือเป็นบ่อยๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ
แต่หากได้รับเชื้อไวรัสนี้เข้าสู่ร่างกายควรรีบกักตัวแยกจากผู้อื่นรวมถึงแยกของใช้ต่างๆ ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์เป็นประจำ และทานยาตามอาการขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
หลังจากหายโควิดแล้วอย่าชะล่าใจ ต้องดูแลตัวเองหลังติดโควิดด้วย เนื่องจากอาจเกิดภาวะ Long COVID (ลองโควิด) ตามมาได้ Long COVID ถือเป็นอาการข้างเคียงที่ยังคงหลงเหลือจากการรักษา Covid-19 จนหายแล้ว ซึ่งผู้ที่มีอาการป่วยรุนแรงจากการติดเชื้อ Covid-19 จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากกว่า ส่งผลให้มีอาการอ่อนเพลีย อ่อนล้า หายใจหอบเหนื่อย หายใจไม่ทัน รู้สึกร่างกายไม่แข็งแรงเหมือนเดิมหรือยังคงรู้สึกเหมือนมีอาการป่วยอยู่ เนื่องจากความผิดปกติของปอดและหัวใจ ดังนั้นเมื่อหายจากอาการติดเชื้อ Covid-19 ยังคงต้องดูแลตัวเองหลังติดโควิดอีกต่อไปด้วยเพื่อให้ร่างกายมีการฟื้นตัวได้เร็วขึ้นและกลับมาสดชื่น แข็งแรงเหมือนดังเดิม
วิธีการดูแลตัวเองหลังติดโควิด นั้นมีวิธีดังนี้
1. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ควรรีบเข้านอนให้เร็วเนื่องจากในขณะที่เรากำลังหลับร่างกายจะสามารถซ่อมแซมตัวเองได้เต็มที่ ช่วยให้สมองได้พักผ่อนและผ่อนคลาย การเข้านอนเร็วจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้ร่างกายได้รับการฟื้นฟูได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. ออกกำลังกายเบาๆ อย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรหักโหมจนเกินไป เช่น การเดินเร็ว การเต้นแอโรบิค เป็นต้น ทำให้ได้เคลื่อนไหวร่างกายช่วยกระตุ้นการทำงานของหัวใจ เพิ่มการสูบฉีดระบบไหลเวียนเลือดในร่างกายมากขึ้น
3. การฝึกหายใจ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการหายใจป้องกันภาวะปอดแฟบ เป็นการฟื้นฟูสมรรถภาพทางปอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ เน้นทานอาหารประเภทให้โปรตีนสูง เช่น ปลาแซลมอน ไข่ไก่ โยเกิร์ต เนยถั่ว เต้าหู้ นม ข้าวโอ๊ต เป็นต้น เพื่อช่วยเพิ่มพลังงานและเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงแก่ร่างกาย
5. รับประทานผักและผลไม้ที่ให้กากใยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมวิตามินและเกลือแร่ เช่น บร็อคโคลี ผักคะน้า พริกหวาน ส้ม ฝรั่ง สตรอเบอร์รี่ เป็นต้น ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
6. ดื่มน้ำเปล่าสะอาดให้เพียงพอ เนื่องจากช่วงที่ป่วยอาจทำให้ร่างกายมีอาการขาดน้ำ การดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่เหมาะสมช่วยทดแทนน้ำที่สูญเสียไปขณะป่วยได้และเป็นการรักษาสมดุลในร่างกาย เพิ่มความสดชื่นให้ร่ายกายกลับมารู้สึกกระปี้กระเป่ามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
7. รับแสงแดดช่วงเช้าหรือช่วงเย็นอ่อนๆ อย่างน้อย 15 นาที ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของปอดได้ ช่วยให้ภูมิคุ้มในร่างกายดีขึ้น เนื่องจากแสงแดดอ่อนๆ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเม็ดเลือดขาวในการต่อสู้กับเชื้อโรคให้ดียิ่งขึ้น
8. ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดต่ำลง และอาจทำให้มีอาการป่วยเรื้อรัง ส่งผลให้สุขภาพโดยรวมแย่ลงได้